วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

วาระการอ่านเเห่งชาติ

วาระการอ่านแห่งชาติ’
การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 และประชุมวิชาการสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย เรื่อง การอ่านเพื่อพัฒนาชาติ
23rd ธ.ค. 2009, by librasu, filed in ฝ่ายบริการ 1 Comment


การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ได้กำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตใน 3 ประเด็น คือ การพัฒนาคนไทยให้มีความสามารถในการอ่าน การพัฒนาคนไทยให้มีนิสัยรักการอ่าน และการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการอ่านให้ยั่งยืน โดยกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปีเป็น “วันรักการอ่าน” และกำหนดให้ปี 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของชาติ สำหรับประเด็นที่น่าสนใจจากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้คือ
1. วิกฤตการอ่านหนังสือของเด็กไทย
วัฒนธรรมการอ่านของเด็กไทย ให้ความสำคัญกับการอ่านเป็นเพียงเครื่องมือไปสู่เป้าหมาย มิได้หล่อหลอมว่าการอ่านเป็นเรื่องการพัฒนาสติปัญญา หรือพัฒนาความสมบูรณ์ของชีวิต ซึ่งผิดกับสังคมตะวันตกที่สอนให้เด็กรักการอ่านจนเป็นนิสัย กลายเป็นสิ่งเสพติดตั้งแต่เกิดจนตาย (Cradle of grave) ซึ่งการอ่านของนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยในประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นแค่เครื่องมือเพื่อให้ความรู้และนำไปสอบผ่าน หลังจากนั้นส่วนใหญ่จะทิ้งการอ่าน เมื่อนิสัยของคนไทยไม่รักการอ่านก็ไม่ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมหรือแนวทางในการพัฒนาอาชีพ เพื่อแก้ไขวิกฤตนี้ห้องสมุดซึ่งเป็นแหล่งสะสมความรู้ต่าง ๆ จะต้องหาแนวทางในการส่งเสริมให้ผู้ใช้ได้เข้ามาใช้ห้องสมุด เพื่อศึกษาค้นคว้าหาความรู้ต่าง ๆ โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือบรรณารักษ์ เนื่องจากบรรณารักษ์เป็นผู้ส่งผ่านความรู้สู่ผู้ใช้ โดยถ่ายทอดความรู้โดยการจัดเก็บทรัพยากรห้องสมุดให้เป็นหมวดหมู่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าใช้บริการของผู้ใช้ ดังนั้นเพื่อทำให้ห้องสมุดน่าสนใจ เป็นแรงดึงดูดให้ผู้ใช้เข้าใช้ บรรณารักษ์จะต้องมีบุคลิกดังนี้ บรรณารักษ์จะต้องมีจิตวิทยาสูง ทำให้ห้องสมุดเป็นดอกไม้คอยเรียกแมลงภู่ให้มาใช้บริการ บรรณารักษ์ห้องสมุดต้องน่ารักอินเทรนด์ เข้ากับผู้เรียนได้ บรรณารักษ์ไม่ต้องสวย แต่ขอให้น่ารัก อัธยาศัยใจคอดี หน้าตาต้อนรับแขก หน้าใส ใจดี มียิ้ม นิ่มนวล ชวนเชิญ เพลินชม อารมณ์ดี มีน้ำใจ ตามสมัยนิยม จะเป็นแรงเสริมที่ทำให้ผู้ใช้อยากเข้าใช้ห้องสมุด นอกจากนี้ บรรณารักษ์จะต้องเป็นนักจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้มีความรู้สึกอยากเข้าใช้ห้องสมุดมากขึ้นด้วยนอกจากนี้ สภาพแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะดึงดูดให้ผู้ใช้อยากเข้าใช้ ห้องสมุดที่มีการจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ทันสมัย ดึงดูด น่าสนใจ จะเชิญชวนให้ผู้ใช้อยากเข้ามาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น
2. การอ่านหนังสือกับห้องสมุด 3 ดี
การพัฒนาห้องสมุดให้เป็น “ห้องสมุด 3 ดี” จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง โดย 3 ดี ที่กล่าวถึงประกอบด้วย หนังสือดี บรรยากาศดี และบรรณารักษ์ดี
หนังสือดี หมายถึง การมีหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ที่ดี มีคุณค่า ไม่เป็นพิษเป็นภัย ให้ความรู้อย่างถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เป็นหนังสือที่ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของผู้อ่านได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเป็นหนังสือดีตรงกับความต้องการของผู้อ่าน ดังนั้น การคัดเลือกหนังสือดีเข้าห้องสมุดจึงต้องพิถีพิถัน รอบคอบพอสมควร และต้องคิดถึงประโยชน์ของผู้อ่านเป็นสำคัญ
บรรยากาศดี หมายถึง ห้องสมุดที่มีบรรยากาศเป็นมิตร เข้ามาในห้องสมุดแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดภัย ไม่รู้สึกว่าถูกจับผิดตลอดเวลา บรรยากาศดี จึงเป็นแรงกระตุ้นให้คนอยากเข้ามาอ่านหนังสือ บริเวณห้องสมุดร่มรื่น สวยงาม และห้องสมุดควรจะรับประกันได้ว่า มาอ่านหนังสือในห้องสมุดแล้วต้องได้รับบริการที่ดี มีหนังสือถูกใจให้ความรู้
และบรรณารักษ์ดี หมายถึง ตัวบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะต้องปรับปรุงตนเองใหม่ โดยต้องมีจิตอาสา อยากช่วยเหลือ อยากอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาใช้บริการด้วยน้ำใจไมตรีที่ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของตัวบรรณารักษ์ ต้องเป็นมืออาชีพ ทำงานมีมาตรฐาน เพราะวิชาชีพบรรณารักษ์เป็นวิชาชีพเฉพาะ มีศาสตร์เฉพาะ แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องไม่ยึดติดกับมาตรฐานของตนเองเสียจนเป็นกำแพงขวางกั้นการทำงานอย่างมีชีวิตชีวา และบรรณารักษ์จะต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ปรับตัวให้ทันเหตุการณ์ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ และต้องทำงานอย่างคนมีความสุข เป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบาย “ห้องสมุด 3 ดี” ให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากบทบาทหน้าที่ของบรรณารักษ์มีความสำคัญยิ่งที่จะส่งเสริมให้ผู้คนได้เรียนรู้อย่างมีคุณค่า
3. หัวข้องานวิจัยที่น่าสนใจกับการส่งเสริมการอ่าน
การประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอหัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการอ่านหลายเรื่อง สำหรับเรื่องที่ดิฉันคิดว่าเหมาะกับเด็กไทยในยุคปัจจุบัน คือ เรื่องการพัฒนาคุณธรรมด้านการเสียสละที่ได้จากการอ่านวรรณกรรมสำหรับเด็กของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอนุบาลบุรีรัมย์ โดยคุณกชกรจินตนสถิตย์ ซึ่งผลการวิจัยพบว่า กลุ่มเด็กที่ได้มีการอ่านวรรณกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมด้านการเสียสละจะมีคุณธรรมด้านการเสียสละสูงกว่าก่อนอ่าน ประโยชน์ที่บรรณารักษ์ได้จากงานวิจัยนี้คือ บรรณารักษ์ควรมีบทบาทในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรักการอ่าน และซึมซับคุณธรรมที่ได้จากการทำกิจกรรมการอ่านร่วมกัน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้มากยิ่งขึ้น
จากการที่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ทำให้ดิฉันตระหนักถึงบทบาทของห้องสมุดที่เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่าน ให้เกิดเป็นรูปธรรมในยุคสังคมความรู้เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตลอดชีวิต รวมทั้งบทบาทของบรรณารักษ์ที่มีหน้าที่สำคัญในการช่วยอำนวยความสะดวกในการให้บริการความรู้แก่ผู้ใช้ผ่านช่องทางทรัพยากรห้องสมุด นอกจากนี้บรรณารักษ์จะต้องเพิ่มบทบาทและการให้บริการที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้มีความรู้สึกอยากเข้ามาใช้ห้องสมุดมากขึ้นด้วย โดยบรรณารักษ์จะต้องเป็นนักจัดกิจกรรม เช่นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับผู้ใช้ เด็ก เยาวชน และประชาชนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสาขาอาชีพ และจัดเตรียมบริการในเชิงรุกและเชิงรับที่สอดคล้องกับยุคสังคมเทคโนโลยีการสื่อสารที่ผู้ใช้ต้องการความทันสมัย สะดวก และรวดเร็ว นอกนี้บรรณารักษ์ก็จะต้องเพิ่มบทบาทการเป็นนักวิจัย ที่สามารถใช้เครื่องมือเพื่อศึกษาผู้ใช้หรือปัญหาในการให้บริการได้ เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้มาใช้ในการปรับปรุงการให้บริการต่อไป



อ้างอิงจาก

http://lib.ku.ac.th/blog/?tag=%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4